การบริหารความเสี่ยง และภาวะวิกฤติ (Risk and Crisis Management)
บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต ซึ่งการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความเสี่ยง ผลตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นการเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายขององค์กร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการลดมูลเหตุของโอกาสที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย รวมไปถึงการลดระดับและขนาดของความเสียหายลง นอกจากนี้ ยังเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2566 บริษัทมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืน “ESG Risk” ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น บริษัทจึงได้มีการเปิดเผยข้อมูลการกำกับดูแลเกี่ยวกับความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบที่เกิดขึ้น และที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศต่อการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์และการวางแผนทางการเงินของบริษัท โดยได้นำแนวทางของ Task Force on Climate-Related Financial Disclosures หรือ TCFD มาใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กร และเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
การบริหารจัดการ
บริษัทดำเนินการบริหารความเสี่ยงและทบทวนความเสี่ยง โดยพิจารณาปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทได้มีกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ให้มีกระบวนการ แนวทาง และมาตรการในการบริหารความเสี่ยงที่มีคุณภาพเหมาะสมในระดับสากลและเพียงพอ รวมถึงการบ่งชี้ วิเคราะห์ ประเมิน จัดลำดับ จัดการ ควบคุม ติดตาม รายงาน ประเมินผลและสื่อสารให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และปฏิบัติทั่วทั้งบริษัท
- ให้มีการวัดผลความเสี่ยงทั้งในเชิงคุณภาพ เช่น ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของบริษัท และเชิงปริมาณ เช่น ผลการขาดทุน การลดลงของรายได้ การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย โดยพิจารณาจากโอกาสที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบ
- ให้มีการกำหนดเพดานความเสี่ยง (Risk Limit) เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้อยู่ภายในระดับที่บริษัทสามารถยอมรับได้ รวมทั้งกำหนดเหตุการณ์หรือระดับความเสี่ยงที่เป็นสัญญาณเตือนภัย (Warning Sign) ให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงเกินกว่าระดับเพดานความเสี่ยงที่กำหนด
- ให้มีระเบียบการปฏิบัติงานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานถือปฏิบัติ อันเป็นการควบคุมความเสี่ยงจากการดำเนินงาน
- สร้างเสริมวัฒนธรรมด้านการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจ จิตสำนึก และความรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และผลกระทบของความเสี่ยง โดยมีการดำเนินงานเชื่อมโยงกันระหว่างฝ่ายงานเจ้าของความเสี่ยง (Risk owner) ทุกฝ่ายและฝ่ายบริหารความเสี่ยง เพื่อติดตาม ทบทวน และประเมินความเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้น จัดทำเป็นรายงานการบริหารความเสี่ยงประจำปี เสนอคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง รวมถึงมีการจัดอบรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบให้แก่บุคลากรครบทุกระดับ ทั้งกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน ในหลักสูตร “การบริหารความเสี่ยงในองค์กร (Risk Management)” อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ ปี 2566 บริษัทได้เข้าร่วมโครงการต้นแบบการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2566 โดยกรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานของบริษัท และ บมจ.ทีพีไอ โพลีน จำนวนรวม 28 คน เข้าอบรมรูปแบบ on line และ on site กับ SET ในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 / 4 สิงหาคม 2566 / 20 ตุลาคม 2566 และ 16 พฤศจิกายน 2566 ตามลำดับ
กระบวนการบริหารความเสี่ยง
บริษัทมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงโดยอยู่ภายใต้นโยบายของบริษัท และยังได้นำหลักเกณฑ์ของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission - Enterprise Risk Management (COSO-ERM) มาเป็นกรอบแนวทางในการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักเกณฑ์ของ COSO-ERM ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ :
การติดตามผลและการสอบทาน
ในปี 2566 บริษัทได้มีการทบทวนประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญ โดยจำแนกความเสี่ยงเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย :
ประเภทความเสี่ยง |
ผลลัพธ์การประเมินความเสี่ยงโดยรวม |
มาตรการควบคุมความเสี่ยง |
ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้ ให้สอดคล้องกับปัจจัยภายในและภายนอกได้ |
ปานกลาง
|
(1) การลงทุนในโครงการและธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และวิเคราะห์ความอ่อนไหวของปัจจัยสำคัญก่อนการลงทุน ตลอดจนติดตามความคืบหน้าในการลงทุน เพื่อไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของผลตอบแทนจากการลงทุนที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด และเงินลงทุนสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ เป็นต้น (2) การลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3) การติดตาม วิเคราะห์ ความเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่อาจมีผลกระทบต่อกิจการ อย่างสม่ำเสมอ (4) วางแผนพัฒนาการดำเนินงาน และการจัดการในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน นำไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ |
ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk) คือ ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานที่มีสาเหตุจากกระบวนการปฏิบัติงานภายใน หรือ เหตุจากภายนอกที่กระทบต่อรายได้และต้นทุนในการดำเนินงาน |
ปานกลาง |
บริษัทได้มีการควบคุมความเสี่ยงจากปัจจัยภายในหรือภายนอก ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ เช่น (1) การบริหารจัดการความเสี่ยงของการใช้พลังงานเชื้อเพลิงขยะเพื่อทดแทน การใช้ถ่านหิน ในการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการปริมาณและต้นทุนในการจัดหาขยะ รวมถึงคุณสมบัติด้านความชื้นของขยะ เป็นต้น การควบคุมค่าใช้จ่าย การจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอและอยู่ในวงเงินงบประมาณ (2) การจัดหาปัจจัยการผลิตหลักให้เพียงพอ เพื่อป้องกันธุรกิจหยุดชะงัก (3) การควบคุมการปฏิบัติงานด้านเอกสาร การบันทึกข้อมูลในระบบให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ |
ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) คือ ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง หรือแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือลงทุนในโครงการต่าง ๆ |
ปานกลาง |
(1) การใช้นโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวัง ภายใต้งบประมาณที่กำหนด เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และมีกระแสเงินสดที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ (2) การติดตาม และบริหารจัดการความเสี่ยงของความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย (3) การบริหารจัดการสภาพคล่องหรือแหล่งเงินทุนให้เพียงพอต่อการดำเนิน ธุรกิจ เช่น การจัดหาวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน สินเชื่อระยะยาว และการออกหุ้นกู้ โดยให้สอดคล้องกับภาวะแนวโน้มตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงิน และตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงไป |
ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Compliance Risk) คือความเสี่ยงจากการไม่สามารถปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง หรือ กฎระเบียบที่มีอยู่ไม่เหมาะสม ไม่ทันสมัย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และอาจมีผลการลงโทษตามกฎหมายที่กำหนด |
ปานกลาง |
(1) บริษัทกำหนดให้มีหน่วยงานที่ควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบและนโยบายของภาครัฐ (2) กำกับ ควบคุมให้การดำเนินงานสอดคล้องตามกฎระเบียบของสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
|
ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Risk) คือความเสี่ยงจากการปล่อยมลภาวะจากกระบวนการผลิต ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม |
ปานกลาง |
(1) บริษัท ใช้นโยบาย Net Zero Greenhouse Gas Emission โดยมีการบริหารจัดการให้กระบวนการผลิตไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง สารเคมีตกค้างและน้ำทิ้ง ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน (2) บริษัท ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเป้าหมายหลักขององค์กร โดยมีเป้าหมายที่จะนำเชื้อเพลิงขยะมาใช้แทนถ่านหินในกระบวนการผลิต 100% ภายใน ปี 2568 และมีเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2580 (ค.ศ. 2037) |
ความเสี่ยงด้านสังคม (Social Risk) คือความเสี่ยงในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น |
ปานกลาง |
(1) (1) บริษัทมีนโยบายเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะรวมถึงให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่พนักงาน เคารพสิทธิมนุษยชนโดยคำนึงถึงประโยชน์และความเท่าเทียมกัน (2) (2) จัดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้กำหนดให้มีช่องทางการร้องเรียน มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการเพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยของพนักงาน |
ความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาล (Governance Risk) คือความเสี่ยงในการบริหารจัดการด้านความโปร่งใสในการดำเนินงาน การทุจริตคอร์รัปชั่น |
ปานกลาง |
บริษัทมีนโยบายในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงาน ให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณและจริยธรรมขององค์กร รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด |
หมายเหตุ : คะแนนระดับความเสี่ยงแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้ :
ระดับความเสี่ยงโดยรวม |
ระดับคะแนน |
ความหมาย |
น้อย
|
1-2
|
ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมความเสี่ยง หรือไม่ต้องมีการจัดการเพิ่มเติม |
ปานกลาง
|
3-6
|
ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยต้องมีการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงเปลี่ยนไปยังระดับที่ยอมรับไม่ได้ |
สูง
|
7-12
|
ระดับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ โดยต้องมีการจัดการความเสี่ยงเพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ต่อไป |
สูงมาก
|
13-25
|
ระดับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ จำเป็นต้องเร่งจัดการ ความเสี่ยงเพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ทันที |
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)
บริษัทได้มีการระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2567 พร้อมทั้งมาตรการในการจัดการ ดังนี้
- ความเสี่ยงจากความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างฉับพลันจากกระแสการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบัน สังคมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศและสากล ทั่วโลกมีการสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก และสนับสนุนให้ใช้วัสดุรีไซเคิล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ต่อบริษัทในบทบาทที่มีต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
บริษัทให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากกระแสการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของสังคม บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ เช่น การติดตั้งระบบ Solar Rooftop ใช้ในโรงงาน ตลอดจนมุ่งเน้นกระบวนการผลิตแบบ Zero Waste เป็นต้น
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
ปัจจุบันเทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเครื่องจักรอัตโนมัติ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ซึ่งยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องสิทธิมนุษยชน และจริยธรรม เป็นต้น
กลุ่มทีพีไอโพลีน ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีขั้นสูง จึงได้ยกระดับงานด้านนวัตกรรม รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัย พัฒนาโรงงานให้เป็น Smart Plant เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยมุ่งเน้นการดำเนินงานทั้งด้านธุรกิจที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสีย เพิ่มการบริหารจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเสริมสร้างความรู้ให้บุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่
- ความเสี่ยงจากการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติ ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาทิเช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น หากบริษัทไม่มีการปรับตัวรับมืออย่างเพียงพอ อาจมีความเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นในองค์กร
กลุ่มบริษัท ได้ตระหนักถึง วิกฤติภัยพิบัติทางธรรมชาติ และได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยทำการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน เพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในสถานการณ์สมมุติต่างๆ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบถึงบทบาท หน้าที่ และข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในการดำเนินการ เพื่อจะได้เตรียมมาตรการสำรองต่างๆ และนำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้นจริง
สำหรับรายละเอียดการบริหารความเสี่ยง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แบบ 56-1 One Report ของบริษัท ประจำปี 2566 หัวข้อ การบริหารความเสี่ยง
การจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management)
บริษัทมีแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่สำคัญและความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างปกติ กำหนดเป็นแนวทางและแผนการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้
- การระบุความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย การก่อการร้าย การประท้วงเหตุจลาจล ภัยคุกคามทางไซเบอร์
- กิจกรรม/ งานที่สำคัญของฝ่ายงาน
- เหตุการณ์ สถานการณ์หรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่สำคัญ
- ผลกระทบที่เกิดขึ้น
- กิจกรรมและวิธีการแก้ปัญหา
- แผนการสนับสนุน และขั้นตอนการแก้ไขปัญหา
- ผู้รับผิดชอบ ผู้ประสานงาน
โดยคณะทำงานส่วนกลางและฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันติดตาม ทบทวน และประเมินแผน BCP เป็นรายปี