|
เรียน ท่านผู้ถือหุ้น
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Municipal Solid Waste-MSW) รายใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงผสมถ่านหินและเชื้อเพลิงขยะ (อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 100%) นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะ และเป็นผู้ให้บริการกำจัดขยะ โดยมีโรงกำจัดขยะชุมชนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยโรงงานกำจัดขยะทั้งหมดของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บริษัทเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) โดยเชื่อมโยงกลยุทธ์ขององค์กรและกลุ่มทีพีไอโพลีนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านบรรษัทภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม บนพื้นฐานการดูแลกำกับกิจการที่ดี (Environmental Social Governance : ESG) เพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
|
ผลการดำเนินงาน
ในปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายรวม 10,990 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 4,835 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนภาระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (สุทธิ) ต่อ EBITDA เพียง 3.98 เท่า (Net IBD/EBITDA)
บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 3,653 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.88 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 2,813 ล้านบาท ในปี 2565 เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าฐาน (Base tariff) ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT Charge) ซึ่งชดเชยกับ Adder ที่ลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงงาน ปูนซิเมนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2564 และ 2565 เนื่องจากปริมาณการผลิตของโรงงานปูนซิเมนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าจากรถไฟฟ้า EV ที่ปรับปรุงในระบบการผลิตของกลุ่มทีพีไอ โพลีน อีกประมาณ 25 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุง boilers ที่ใช้ถ่านหินให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงขยะทดแทนได้ ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง และผลิตไฟฟ้าขายให้โรงงานปูนซิเมนต์ได้มากขึ้น โดยปริมาณการขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซิเมนต์ในปี 2566 เติบโตประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา
เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. สำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดสงขลา 7.92 เมกะวัตต์
บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) แบบ non-firm ปริมาณผลิตไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 7.92 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปีกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 เพื่อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะชุมชน จังหวัดสงขลา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ. สงขลา) ได้ประกาศให้บริษัทเป็นผู้ชนะในการประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในเดือนมีนาคม 2564 และบริษัทได้เซ็นสัญญาสัมปทานขยะกับ อบจ. สงขลาในเดือนกันยายน 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ใน ปี 2569 ซึ่งการเริ่มผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะช่วยเพิ่มผลประกอบการ และช่วยกำจัดขยะชุมชนในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของกลุ่มทีพีไอโพลีน โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะช่วยกำจัดขยะชุมชนได้ 400-500 ตันต่อวัน ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงานบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี โดยได้รับรายได้จากค่าขายไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7.92 เมกะวัตต์ ในอัตรา 5.78 บาท/หน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาท/หน่วย สำหรับ 12 ปี ถัดไป
เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. สำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดมุกดาหาร 8 เมกะวัตต์
บริษัทได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ของเทศบาลเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แบบ non-firm ปริมาณผลิตไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 8 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท มีปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่โครงการไม่น้อยกว่า 388 ตันต่อวัน และมีมูลฝอยเก่าไม่น้อยกว่า 4 แสนตัน ตลอดอายุสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงานบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี โดยได้รับรายได้จากค่าขายไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ในอัตรา 5.78 บาท/หน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาท/หน่วย สำหรับ 12 ปี ถัดไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569
ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ AI Control for Grate Boilers
บริษัทมุ่งเน้นนวัตกรรมด้านการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 บริษัทได้ลงนามในสัญญาติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ AI Control for Grate Boilers เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตไอน้ำของหม้อ ไอน้ำ ทำให้มีปริมาณไอน้ำเพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โครงการนี้อยู่ระหว่างการขอรับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อรับสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน
ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด อีก 71.90 เมกะวัตต์ รวมเป็น 511.90 เมกะวัตต์ ในปี 2567
บริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 71.90 เมกะวัตต์ โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า Solar Farm 61.80 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า Solar Roof Top 5.10 เมกะวัตต์ ในโรงงานปูนซิเมนต์และโรงงานกระเบื้องของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จ.สระบุรี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 66.90 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 5 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 71.90 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซิเมนต์ ของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน ในปี 2567 ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มจากเดิม 440 เมกะวัตต์ เป็น 511.90 เมกะวัตต์
อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้เป็น “A-” (Single A Minus) แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่”
บริษัทได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้อยู่ที่ระดับ “A-” (Single A Minus) แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” และอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) อยู่ที่ระดับ “a” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (โดยอันดับเครดิตของบริษัทมีกรอบจำกัดที่ไม่เกินไปกว่าอันดับเครดิตของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “A-/Stable”) ในส่วนของอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัทซึ่งได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements : PPA) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านเชื้อเพลิงของบริษัท และต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงจากโครงการทดแทนการใช้ถ่านหินด้วยเชื้อเพลิงขยะชุมชน (Municipal Solid Waste-Derived Fuel) โดยคาดการณ์ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัท จะมีกระแสเงินสดปรับตัวดีขึ้น
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ และสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit
บริษัทมีนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2580 โดยมุ่งมั่นทำการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 100% ที่ผลิตจากขยะชุมชน หรือ เชื้อเพลิงทดแทนอื่น แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และถ่านหิน ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม และเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในระดับสูงสุดและปลอดภัย ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้บริษัทเป็น “CLEAN&GREEN POWER COMPANY” โดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit ในอนาคต
โรงกำจัดขยะชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง พร้อมกับการเติบโตในธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะของบริษัท บริษัทได้ก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะชุมชน ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกัน เพื่อแปรรูปขยะทุกรูปแบบ ทั้งขยะชุมชน ขยะเก่า ขยะอุตสาหกรรม และขยะติดเชื้อ เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทสามารถลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วย
ในปี 2566 บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตโดยก่อสร้างโรงคัดแยกเชื้อเพลิง (โรงงาน 3) ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังผลิตในการรับขยะชุมชนอีกวันละ 3,000 ตัน จากกำลังการผลิตเดิม 9,000 ตันต่อวัน รวมเป็นความสามารถในการรับขยะชุมชน 12,000 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังมีโรงงานคัดแยกขยะที่บริษัทไปลงทุนตามแหล่งขยะตามจังหวัดต่างๆ ร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับบริษัท (นอกจังหวัดสระบุรี) เช่น ระยอง ชลบุรี อยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และ สมุทรสาคร เป็นต้น ซึ่งโรงคัดแยกขยะดังกล่าวมีกำลังการรับกำจัดขยะรวมประมาณ 3,000 - 5,000 ตันต่อวัน ซึ่งทำให้บริษัทมีความสามารถในการรับขยะชุมชน เพื่อใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงวันละ 15,000 ตัน หรือ ปีละ 4,500,000 ตัน ทั้งนี้เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงขยะแทนถ่านหินในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทซึ่งอยู่ระหว่างการเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะทั้งหมดภายในปี 2568
ก้าวสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดสีเขียวเต็มรูปแบบ สร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit
บริษัทได้กำหนดพันธกิจที่จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในธุรกิจพลังงานสะอาดสีเขียว โดยการเข้าร่วมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่างๆที่ภาครัฐจะได้กำหนดเงื่อนไขให้ภาคเอกชนเข้าร่วมรับการคัดเลือก โดยการประมูลโรงไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ตามที่มีการประกาศโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากเชื้อเพลิงขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม รวมถึงพลังงานสีเขียวจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit
การพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน คุณภาพของสังคม และศักยภาพของพนักงาน
ในปี 2566 บริษัทได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility-CSR) ทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วน ได้เสีย ซึ่งรวมถึงพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 43.34 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดทุนทรัพย์ บริจาคผลิตภัณฑ์กลุ่มทีพีไอโพลีนเพื่อใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารเรียน จำนวน 20 โรงเรียน ทั่วประเทศ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมและบริจาคผ้าห่มกันหนาวให้กับผู้ประสบภัยหนาวในจังหวัดต่างๆ บริจาควัสดุก่อสร้างให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีวัดต่างๆ และสนับสนุนน้ำดื่มทีพีไอพีแอลให้แก่กิจกรรมจิตอาสาและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
กิจกรรมเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและเพิ่มคุณภาพของสังคม นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีโครงการลดการใช้กระดาษและการนำกลับใช้อย่างคุ้มค่า โครงการรวบรวมขวดพลาสติกภายในองค์กรแทนการทิ้งลงถังขยะชุมชน เพื่อลดขั้นตอนการคัดแยกขยะและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของบริษัท เป็นต้น
บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของพนักงาน โดยจัดให้มีการฝึกอบรม เสริมสร้างความรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กร เช่น การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประสิทธิภาพชุดป้อนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ทักษะในการปฏิบัติงาน การให้ความสำคัญด้านผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง สังคม และสิ่งแวดล้อม
การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน และการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ในปี 2566 กลุ่มทีพีไอโพลีนได้จัดทำกลยุทธ์และดำเนินธุรกิจตามนโยบายด้านความยั่งยืนที่คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้นำประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (Materiality) ทั้ง 3 ด้าน ซึ่งครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการกำกับดูกิจการที่ดี เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กร ให้บรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาความยั่งยืน โดยได้มีการนำประเด็นที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทมาจัดทำรายงานความยั่งยืนปี 2566 ตามมาตรฐานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI)
นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าร่วมโครงการต้นแบบการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ตามหลักการของ TCFD (Task Force on Climate-related Finance Disclosures) ซึ่งเป็นการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินด้านการจัดการสภาพภูมิอากาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุนรับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัท ซึงคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ โดยบริษัทได้ประเมินความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินทุนเพื่อปรับเทคโนโลยีให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำขยะมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซล่าร์ พลังงานลม เป็นต้น ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% (Renewable Energy Power Plant) จะทำให้ได้ ใบรับรอง REC และเป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit ทั้งนี้บริษัทใช้กลยุทธ์คาร์บอนต่ำเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ตามมาจากการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit ซึ่งจะสร้างโอกาสด้านรายได้แก่บริษัท สังคมจะผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการชาร์จประจุไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริม Smart Grid รวมถึงเมืองอัจฉริยะ ต่อไป
ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาความยั่งยืน
ด้วยความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ส่งผลให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับรางวัลและการรับรองจากองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ ในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนี้
- ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) หรือกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2566 เป็นปีที่ 4 (2561, 2564, 2565 และ 2566) และเป็นบริษัทที่น่าลงทุนในหมวดกลุ่มทรัพยากร จากการประเมินของสถาบันไทยพัฒน์
- ได้รับการประเมินความยั่งยืน SET ESG Rating ประจำปี 2566 อยู่ในระดับ AA จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนการดำเนินธุรกิจด้าน ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยรวมอย่างยั่งยืน
- ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการ ในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies : CGR) ประจำปี 2566 ในระดับ 5 ดาว “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors : IOD)
- ได้รับรางวัล The International Diamond Prize for Excellence in Quality 2023 จากสมาคมยุโรปเพื่อการวิจัยคุณภาพ (European Society for Quality Research : ESQR) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อ ยกย่ององค์กรต้นแบบที่มีการดำเนินธุรกิจที่ดี ภายใต้กรอบการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานสากลและสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีอันล้ำสมัย
- ได้รับรางวัล CSR จากเวทีระดับโลก 3G Excellence Award in CSR Activities 2023 และ 3G Environmental Responsibility Award 2023 จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Cambridge IFA International Financial Advisory ในสหราชอาณาจักร เพื่อยกย่ององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจในชีวิตประจำวัน
ในนามของคณะกรรมการของบริษัท ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้น ท่านผู้ถือหุ้นกู้ สถาบันการเงินต่างๆ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ที่ได้ร่วมให้ความสนับสนุน และให้ความไว้วางใจบริษัทด้วยดีตลอดมา ส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นแรงผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนร่วมกันมุ่งมั่นทุ่มเทความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตลอดจนสังคมไทยโดยรวม โดยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้คนไทยมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์)
ประธานกรรมการ