การพัฒนาชุมชนและสังคม

 

การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม(3-3) (Community and Social development)

การมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสังคม ส่งเสริมคุณภาพชีวิต รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนด้วยความเกื้อกูลกัน ถือเป็นเป้าหมายที่บริษัท ในฐานะบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าสัญชาติไทยให้ความสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการกำจัดขยะต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นแก้ไขปัญหาสังคมทางตรง รวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อชุมชนโดยรอบ ตลอดจนการช่วยสนับสนุนอาชีพของคนในชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งบริษัท และสังคมไทย

 

เป้าหมายการดำเนินงาน

การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม

·         ไม่มีกรณีร้องเรียน หรือเรียกร้องเยียวยาหรือชดเชย

 

แนวบริหารจัดการ

 ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาบริษัท ได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสังคมและชุมชนมาโดยตลอดครอบคลุมทุกแหล่งดำเนินการของบริษัท (100%)(413-1)  เนื่องจากการลงทุนในแต่ละโครงการของบริษัท เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในขั้นตอนใดหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ต่อการสร้างผลกระทบ ทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัทจึงให้ความสำคัญในกระบวนการประเมินผลกระทบโดยพิจารณาจากความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการหรือความคาดหวังของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ

 

วิธีการ หรือกระบวนการในการประเมินผลกระทบที่ชุมชนได้รับจากการดำเนินงานขององค์กร(413-2)

บริษัทได้ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการจัดการให้ข้อมูล รายละเอียดโครงการต่าง ๆที่ดำเนินการอย่างโปร่งใส เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของชุมชน เพื่อนำมาพิจารณาในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังดำเนินการ ตลอดจนจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วนของชุมชน เพื่อเข้าร่วมในการดำเนินงานของบริษัท ในการตรวจติดตามและเสนอข้อร้องเรียน หรือข้อแนะนำ เพื่อเป็นการสื่อสารและแก้ไขปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นร่วมกัน

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดตั้งกองทุนต่าง ๆให้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นกองทุนภาคสมัครใจเพิ่มเติมที่ไม่ใช่ข้อกำหนดในกฎหมาย โดยให้ตัวแทนชุมชนเป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการ

บริษัทยังได้จัดให้มีกิจกรรม open house  เพื่อให้ตัวแทนชุมชน สถานศึกษา ส่วนราชการ หรือภาคเอกชน ที่เกี่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม กระบวนการจัดการ และโรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง และได้มีโอกาสที่จะสื่อสารกันทางตรง

โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หัวข้อ “การจัดกิจกรรมด้านกิจกรรม CSR สำหรับชุมชนในพื้นที่ที่ตั้งโรงงาน เข้ารับฟังปัญหาและดูแลแก้ไขผลกระทบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ” ตามแผนผังที่ได้แสดงไว้

 

การจัดตั้งงบสนับสนุนกองทุนโรงไฟฟ้าภาคสมัครใจเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัทได้มีการสนับสนุนด้านการเงินโดยการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้มีการดูแลชุมชนในพื้นที่รอบการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัท โดยการจัดตั้งกองทุน เพื่อให้สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย นักวิชาการ  ตัวแทนชุมชน และบริษัท ได้เข้ามาร่วมในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. กองทุนประกันสุขภาพแก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

เพื่อเป็นหลักประกันในการเยียวยาการรักษาการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบโครงการโรงไฟฟ้า ในกรณีที่การเจ็บป่วยนั้นเกิดจากการดำเนินงานของโครงการซึ่งได้นำเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ 1,000,000 บาทในปีแรก และนำเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ 500,000 บาทในปีต่อๆ ไปทุกปี ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงสิ้นปี 2566 เงินกองทุนฯ มียอดเงินสะสมรวม 3,020,173.04 บาท

  1. กองทุนเพื่อโครงการวิจัยพัฒนาอาชีพชุมชนและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อการสนับสนุนกิจการของชุมชนและการสร้างความเข้าใจอันดีกับชุมชน โดยส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาอาชีพของชุมชนโครงการ ซึ่งได้นำเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ 1,000,000 บาทในปีแรก และนำเงินเข้าบัญชี 400,000 บาทในปีต่อๆ ไป โดยสนับสนุนทุนวิจัยฯ อย่างน้อย 2 โครงการต่อปี และไม่เกิน 200,000 บาทต่อโครงการ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงสิ้นปี 2566  เงินกองทุนฯ มียอดเงินสะสมรวม 1,866,800 บาท

  1. งบสนับสนุนคุณภาพด้านบุคลากรอุปกรณ์ทางการแพทย์และงานวิจัยทางด้านสาธารณสุข

เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านสาธารสุขในพื้นที่ในการส่งเสริมและเฝ้าระวังทางสุขภาพ ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เช่น การสนับสนุนการฝึกอบรม อสม. สนับสนุนงบการศึกษาวิจัยหรือเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และสนับสนุนบุคลากรด้านสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งได้นำเงินเข้าบัญชีงบสนับสนุนปีละ 300,000 บาท ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงสิ้นปี 2566  งบสนับสนุนมียอดเงินสะสมรวม 7,970,443.80 บาท

  1. งบสนับสนุนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

เพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบลและบุคลากรสาธารณสุข เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยการสนับสนุนเวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การอบรมและฝึกปฎิบัติจากบุคลากรด้านอาชีวอนามัยหรือสุขศาสตร์หรืออาชีวศาสตร์เป็นประจำทุกปี  ซึ่งได้นำเงินเข้าบัญชีงบสนับสนุนปีละ 300,000 บาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงสิ้นปี 2566  งบสนับสนุนมียอดเงินสะสมรวม 356,273  บาท

  1. งบสนับสนุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้กับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการปลูกป่าไม้ทดแทน ซึ่งได้นำเงินเข้าบัญชีงบสนับสนุนปีละ 300,000 บาท ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงสิ้นปี 2566  งบสนับสนุนมียอดเงินสะสมรวม 786,000 บาท 

 

 

 

ผลการดำเนินงาน

ในปี 2566 บริษัทไม่มีข้อร้องเรียนจากชุมชนและสังคม

กิจกรรมเพื่อสังคม(413-2)

การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลักๆ คือ ด้านชุมชนสัมพันธ์ (Community Relations ) และด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับองค์กร (Corporate CSR) โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัททีพีไอโพลีนได้สนับสนุนงบประมาณ,ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง,ผลิตภัณฑ์รักษ์สุขภาพในเครือทีพีไอโพลีน เป็นจำนวนเงิน 43,343,196.86 บาท ให้แก่ชุมชนและสังคมทุกด้าน โดยได้ดำเนินงาน ทั้งสองด้านควบคู่กันไป ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

(4.1)  ด้านชุมชนสัมพันธ์ (Community Relations)

บริษัทมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ บริษัทมีนโยบายเชิงรุกให้ทุกหน่วยผลิตให้การช่วยเหลือสนับสนุนด้านสุขอนามัยและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยไม่ต้องรอให้ชุมชนร้องขอ และให้การสนับสนุนชุมชนรอบข้างและสังคมที่สำคัญ ดังนี้

  (1) เสริมสร้างชุมชนให้มีสุขภาพดี ออกบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ใน “โครงการดูแลสุขภาพประจำปี”  ให้บริการตรวจสุขภาพประชาชน, บริการตรวจเอ็กซ์เรย์ทรวงอก,ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ตรวจวัดสายตา ให้กับคนในชุมชน อ.แก่งคอย, อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

(2) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ทางบริษัท ได้ร่วมกับภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 2 (จ.ลพบุรี) และเหล่ากาชาด จ.สระบุรี จัดกิจกรรมการบริจาคโลหิต โดยผู้บริหาร พนักงานในเครือทีพีไอ โพลีนและผู้รับเหมา ร่วมบริจาคโลหิตจำนวนกว่า 83,700 ซีซี เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง

                (3) โครงการคัดแยกขยะแลกไฟฟ้าพัฒนาชุมชน เพื่อให้ความรู้ในการคัดแยกขยะครัวเรือน และลดปริมาณขยะให้กับคนในชุมชน รวมถึงให้ความรู้ด้านการออกแบบและจัดทำผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล เพื่อนำขยะมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์  ทำให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากขยะรีไซเคิล และสร้างรายได้จากการจำหน่ายขยะของครัวเรือน ให้กับบริษัท เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า สามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มีสุขภาพ สุขลักษณะในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น มีการรวมกลุ่มสมาชิกของชุมชน เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนต่อไป

(4) สนับสนุนเครื่องกรองน้ำ และซ่อมบำรุง เพื่อดูแลสุขภาพชุมชนขั้นพื้นฐาน จัดหาน้ำดื่มสะอาดบริการประชาชนและยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ให้กับชุมชนรอบโรงงานฯ 14 หมู่บ้าน อ.แก่งคอย และ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

(5) ร่วมจัดกิจกรรมปลูกป่า TPIPP ลดร้อน รักษ์โลก ณ เหมือง Site C1 ต.ทับกวาง จ.สระบุรี  พื้นที่ปลูกป่าทั้งสิ้นจำนวน 100 ไร่ ร่วมกับนายกเทศมนตรี นายกอบต. และสมาชิกเทศบาลฯ อบต..กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะครู ชาวบ้าน  ต.ทับกวาง ต.ท่าคล้อ อ.แก่งคอย /ต.มิตรภาพ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก   เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทดแทนป่าเสื่อมโทรม ลดโลกร้อน อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้ คณะกรรมการ,ผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัทในเครือฯ ร่วมกับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมเพี่อชีวิต จัดโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่    สีเขียวประจำปี 2566 จำนวน 2,000 ต้น ณ โรงงานปูนซิเมนต์ทีพีไอ จ.สระบุรี

 

                 (4.2) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับองค์กร (Corporate CSR)

  นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยในปี 2566 บริษัทได้มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนและกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้

 

กิจกรรมการช่วยเหลือสังคมและชุมชน

การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน (Community involvement and development)

˜   สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย อาทิเช่น  

  บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร พนักงานและญาติมิตร ร่วมบริจาคเงินจำนวน 21,285,062 บาท  สมทบกองทุนวันมหิดล ประจำปี  2566 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส โรงพยาบาลศิริราช  คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน), บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสิ่งแวดล้อม           เพื่อชีวิต มอบเสื้อกันหนาวบริจาคจำนวน 300 ตัว ผ่านสถานเอกอัครราชทูตตุรกี ประจำประเทศไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นเดินไหวในประเทศตุรกี

มอบเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 37 เตียง ให้กับ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองทับกวาง เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียงติดบ้าน ในเขต ตำบลทับกวาง ตำบลมวกเหล็ก และ ตำบลมิตรภาพ จ.สระบุรี

สนับสนุน "โครงการกายอุปกรณ์"  ให้แก่คนพิการที่ยากไร้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และ ให้กับเด็กเล็กที่อยู่ในวัยเรียน ของสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหว จ.อุทัยธานี เป็นเงิน 240,000 บาท และให้การสนับสนุนดูแลกิจกรรมการเรียนการสอนเด็กพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8    จ.เชียงใหม่ เป็นเงิน 20,000 บาท

สนับสนุนโครงการแข่งขันวิ่ง ม.อ. หาดใหญ่สู่ธรรมชาติปี 2566 ครั้งที่ 23 (PSU Hat Yai Nature Run 2023 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงิน 300,000 บาท, สนับสนุนงาน "๑๐๖ ปี คืนเหย้า ฟังเพลงเพลิน เดินจุฬาฯ" ในโอกาสครบรอบ ๑๐๖ ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเงิน 400,000 บาท และปรับปรุงห้องประชุมโรงเรียนบ้านหนองตะลุมปุ๊ก จ.นครราชสีมา เป็นเงิน 50,000 บาท

 

                ˜ ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีวัดศรีดอนมูล  จ.เชียงใหม่, วัดบ้านหินลับ จ.สระบุรี, วัดถ้ำสาริกา                    จ.นครนายก, ทอดผ้าป่าสามัคคี วัดหนองตะลุมปุ๊ก จ.นครราชสีมา, ทอดกฐินสามัคคี วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรีและร่วมสนับสนุนงบประมาณเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างทีพีไอ,ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์, สีนาโนซูเปอร์อาร์เมอร์ทีพีไอ, และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ   ให้กับวัดต่าง ๆ  อาทิเช่น ร่วมก่อสร้างวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดโกเมศรัตนาราม              จ.ปทุมธานี, สร้างห้องน้ำ วัดป่าขันติยานุสรณ์ จ.อุดรธานี,ทำลานปฏิบัติธรรมและลานประกอบพิธีกสิณไฟ บริเวณพื้นที่หน้าอุโบสถหลังใหม่ วัดแก้วฟ้า จ.นนทบุรี, ขยายถนน สร้างโรงครัวกลางและห้องน้ำภายในวัด วัดป่าหลวงพ่อวิริยังค์   จ.นครราชสีมา ฯลฯ

นอกจากนี้ยังร่วมส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านอื่น ๆ อาทิเช่น สนับสนุนโครงการสามเณรรากแก้วศาสนทายาท วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก, สนับสนุนการเผยแพร่ธรรมะ ทางช่องธรรมะบันดาลใจ  วัดเวฬุวัน           จ.กาญจนบุรี และสนับสนุนการเผยแพร่พระพุทธศาสนาทางสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดยานนาวา  (WBTV) ฯลฯ

                กิจกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่บริษัท ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและสังคมให้ดีขึ้น บริษัทตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญในความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) พร้อมที่จะสนับสนุนสังคม การศึกษา เยาวชน ศาสนาและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่เกื้อกูล สิ่งแวดล้อมที่ดี และเศรษฐกิจไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืน